ผลกระทบของ Covid19 ต่อตลาดปลาเทอร์บอตและคาเวียร์ของสหภาพยุโรป
ชื่อบทความ ผลกระทบของ Covid19 ต่อตลาดปลาเทอร์บอตและคาเวียร์ของสหภาพยุโรป คำสำคัญ ผลกระทบ Covid19 ตลาดปลาเทอร์บอตและคาเวียร์ จนถึงปัจจุบันนี้ชาวโลกอยู่ต่อสู้กับโรค Covid19 มาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว สถานการณ์ต่างๆ ระหว่างช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็มีการเปลี่ยนแปลงในหลายรูปแบบทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของหลายคนเปลี่ยนไป สำหรับอุตสากรรมการเลี้ยงปลาทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบจากโรคนี้เหมือนกันนะคะ วันนี้เราจะมาดูผลกระทบของโรค Covid19 ต่อตลาดขายปลาเทอร์บอตของสหภาพยุโรปกันค่ะ ปลาเทอร์บอตเป็นปลาที่สามารถจับได้จากธรรมชาติและเลี้ยงในฟาร์ม พบปลาเทอร์บอตได้จากมหาสมุทรแอตแลนติกตะวันออกเฉียงเหนือไปจนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สำหรับการเพาะเลี้ยงปลาเทอร์บอตเริ่มขึ้นเมื่อปี 1970 ในสกอตแลนด์ ฝรั่งเศส และสเปน มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่ช้าในด้านการผลิต จากนั้นมีการนำปลาเทอร์บอตไปเลี้ยงในชิลีและจีน ซึ่งมีการพัฒนาการเลี้ยงไปมาจน ปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศจัดเป็นประเทศผู้นำการผลิตของโลกมากถึง 85% ของปริมาณทั้งหมด เดือนมีนาคม 2565 European Market Observatory for Fisheries and Aquaculture Products (EUMOFA) ได้เผยแพร่เนื้อหาของการศึกษาผลกระทบของโรค Covid19 ต่อตลาดขายปลาเทอร์บอตของสหภาพยุโรป การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบภาพรวมของห่วงโซ่คุณค่าของปลาเทอร์บอตที่เลี้ยงในฟาร์มและตลาดคาเวียร์ และจัดทำสถานะสำหรับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งก่อนและระหว่างการระบาดของ Covid19 การศึกษานี้ยังให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาด วิธีการจัดการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศที่ผลิตปลาทูน่าและปลาสเตอร์เจียนที่เลี้ยงในฟาร์ม นักวิจัยได้สำรวจพบว่ามาตรการล็อกดาวน์ที่มีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของ Covid19 ในหลายเมือง ส่งผลกระทบต่อตลาดขายปลาเทอร์บอตและคาเวียร์อยู่มาก ปี 2020 พบว่ามีปริมาณการส่งออกปลาเทอร์บอตจากสหภาพยุโรปสม่ำเสมอ โดยในช่วงเริ่มต้นของการระบาดในเดือนมีนาคมและเมษายน 2020 มีปริมาณการขายลดลงอย่างชัดเจนโดยเป็นผลกระทบจากภาวะการระบาดของโรค แต่ในช่วงหน้าร้อนและคริสต์มาสปริมาณการขายพุ่งขึ้นสูงมาชดเชยกัน สำหรับการส่งออกและนำเข้าคาเวียร์ของสหภาพยุโรปมีปริมาณที่ลดลงในปี 2020 โดยลดลงอย่างมากในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2020 เช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาด้านการขนส่งและความต้องการที่ลดลงอย่างชัดเจน แต่ในช่วงคริสต์มาสทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มขึ้นมาจนใกล้ถึงระดับก่อนเกิดโรคระบาด ในประเทศสเปนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตปลาเทอร์บอตที่เลี้ยงในฟาร์มรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป ในส่วนของขั้นตอนการผลิตนั้นไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด เนื่องจากวัฏจักรการเติบโตของปลาเทอร์บอตที่เลี้ยงในฟาร์มเป็นไปตามกำหนดเวลา มีการตั้งโปรแกรมการเลี้ยงให้ตรงกับฤดูกาลที่มีความต้องการบริโภค สูงสุด คือ ช่วงฤดูร้อนและคริสต์มาส ซึ่งสภาวะที่มีผลกระทบของโรคระบาดต่อการค้าจะพบมากในช่วงฤดูใบไม้ผลิ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่าปริมาณการผลิตของสเปนลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปี 2019 สำหรับในประเทศฝรั่งเศส บริษัทผู้ผลิตปลาเทอร์บอตชั้นนำ ฟาร์มปลาเทอร์บอตต้องระงับการผลิตชั่วคราวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2021 เนื่องจากมีปัญหาทางการเงินซึ่งเป็นผลกระทบจากจากการระบาดของโรค
ก่อนการระบาดของโรค ปริมาณการขายส่วนใหญ่ทั้งปลาเทอร์บอตและคาเวียร์มีการขายให้กับกลุ่มธุรกิจการโรงแรม และตลาดระดับพรีเมีย เนื่องจากภาคส่วนที่ขายได้ ได้รับผลกระทบจากมาตรการในช่วงล็อกดาวน์หรือประสบปัญหาด้านการขนส่ง ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ของสเปนต้องปรับตัวมาทำการขายแบบขายปลีกเกือบทั้งหมดภายในเวลาไม่กี่เดือน จากการสัมภาษณ์ข้อมูลการส่งออกจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียพบว่าผู้ผลิตปลาเทอร์บอตและคาเวียร์จำนวนมากได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ในช่วงที่มีการระบาด โดยค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำตลาดและขายผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิตปลาเทอร์บอตบางส่วนเปลี่ยนจากการขายปลาเทอร์บอตสด/สดไปเป็นปลาเทอร์บอตแช่แข็งและบรรจุสำเร็จ ในขณะที่ผู้ผลิตคาเวียร์ดึงดูดผู้บริโภคในประเทศให้ซื้อคาเวียร์ที่ผลิตในประเทศและมุ่งเน้นไปที่การขายออนไลน์มากขึ้น งานวิจัยทที่วิเคราะห์ตลาดปลาเทอร์บอตและคาเวียร์ของสหภาพยุโรป และการจัดการท่ามกลางการระบาดของโรค บางส่วนก็มีการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับหลายๆ อุตสาหกรรมในประเทศไทยเหมือนกัน โดยเฉพาะที่เห็นชัดเจนคือการค้าปลีกเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งการขายแบบออนไลน์มีมากขึ้นจริงๆ ค่ะ ที่มา - https://thefishsite.com/articles/how-has-covid-19-impacted-europes-turbot-market - https://www.eumofa.eu/documents/20178/432372/COVID19+Impacts+on+farmed+species.pdf/733c4baf-39d1-e1a8-e0eb-86590070142b สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเมย์) |