จุลินทรีย์ในลำไส้ปลา
ชื่อบทความ จุลินทรีย์ในลำไส้ปลา คำสำคัญ จุลินทรีย์ ลำไส้ปลา ที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจุลินทรีย์ในลำไส้ปลามาเป็นเวลานานหลายทศวรรษนะคะ เรื่องนี้มีการศึกษาต่อยอดไปเรื่อยๆ และเมื่อเร็วๆ นี้มีการค้นพบโดยบังเอิญระหว่างการทดลองล่าสุดในนอร์เวย์ โดยนักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองโดยให้อาหารปลาแซลมอนที่เลี้ยงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และมีการวัดค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องประสิทธิภาพของอาหาร เช่น การใช้อาหาร อัตราการเจริญเติบโต และค่าเกี่ยวกับแบคทีเรียในลำไส้ โดยใช้วิธีการถอดลำดับพันธุกรรม (DNA sequencing) เข้ามาร่วมด้วย ในระหว่างการทดลองทีมนักวิทยาศาสตร์เริ่มมีความสงสัยเกี่ยวกับแบคทีเรียที่พบในลำไส้ของปลาแซลมอน เลยทำการตรวจสอบเพิ่มเติม แล้วก็พบว่าวิธีถอดลำดับพันธุกรรม DNA sequencing ที่ใช้อยู่นั้นมีข้อจำกัดบางอย่าง โดยทีมวิจัยสรุปเอาไว้ว่าสิ่งที่พบจากการถอดลำดับพันธุกรรมจากเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ อาจกลายเป็นว่าจุลินทรีย์นั้นเป็นแบคทีเรียที่ตายแล้วที่ติดมากับอาหารปลาก็เป็นได้ นักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพปลาและนักวิทยาศาสตร์ด้านจุลชีววิทยา เห็นว่าปกติแล้วโดยทั่วไปในงานวิจัยที่เกี่ยวกับจุลินทรีย์ในลำไส้ปลาทั้งในนอร์เวย์หรือในระดับสากล จะไม่มีการนำอาหารที่ให้ปลามาวิเคราะห์จุลินทรีย์ด้วย โดยจุลินทรีย์ในอาหารสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ของปลาเช่นกัน ดังนั้นจึงได้มีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบอาหาร 15 ชนิดจากการศึกษาที่แตกต่างกัน โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ในวารสารวิชาการ Nature เรื่อง Feed microbiome: confounding factor at affecting fish gut microbiome Studies ทีมวิจัยเห็นว่าจากการถอดรหัสพันธุกรรมเชิงลึกพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีแบคทีเรียเป็นพันตัวในตัวอย่าง และตั้งข้อสังเกตได้ว่าลำไส้ของปลามีความคล้ายคลึงกับลำไส้ของสัตว์อื่นๆ ซึ่งมีกลุ่มประชากรจุลินทรีย์ที่ซับซ้อนในลำไส้ ดังนั้น หลายคนอาจไม่เคยคิดว่าจะจุลินทรีย์บางตัวที่มีบทบาทสำคัญจะเป็นจุลินทรีย์ที่ติดมากับอาหารสัตว์ ทั้งนี้ ลำไส้ของปลาเหมือนมีกลุ่มประชากรจุลินทรีย์ที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่วัตถุดิบในอาหารปลามีสารอาหารมากมายที่จุลินทรีย์ต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แม้ว่าจุลินทรีย์นั้นจะตายระหว่างกระบวนการผลิต แต่ DNA ของจุลินทรีย์ยังคงอยู่และสามารถติดไปกับอาหารและเข้าไปในลำไส้ของปลาได้ เช่น แบคทีเรียกรดแลคติก (lactic acid bacteria) ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ได้จากพืช ดังนั้น จากข้อสรุปข้างต้นก็คงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับอาหารสัตว์ของปลาต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการเพิ่มเติมการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ได้จากพืช ตรวจสอบการ จัดลำดับ DNA จากลำไส้ที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่ใช้ หรือจัดลำดับ RNA ของจุลินทรีย์เพื่อระบุและบ่งชี้จุลินทรีย์ที่ออกฤทธิ์ อาจเพิ่มวิธีการการเพาะเลี้ยงเซลล์เพื่อแยกจุลินทรีย์เหล่านี้ออก ทีมนักวิจัยยังคงให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการค้นพบนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการวิจัยด้านอาหารสัตว์น้ำ แต่ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้ เพื่อให้มีความรู้ที่เพิ่มมากขึ้นและแตกต่างไปจากงานวิจัยที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ งานนี้ก็เป็นอีกงานวิจัยหนึ่งที่สามารถนำไปศึกษาต่อยอดเพื่อพัฒนาอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์น้ำได้ในอนาคตค่ะ ที่มา https://www.nature.com/articles/s43705-022-00096-6 https://thefishsite.com/articles/research-sheds-new-light-on-the-microbiota-of-farmed-fish สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเมย์) |