nanobubbles และการเพาะเลี้ยงกุ้ง
ชื่อบทความ nanobubbles และการเพาะเลี้ยงกุ้ง คำสำคัญ nanobubbles และการเพาะเลี้ยงกุ้ง จากบทความก่อนหน้า วันนี้มาดูการศึกษาที่น่าสนใจของ Rahmawati และคณะในปี 2020 เกี่ยวกับการนำอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตฟองอากาศนาโน หรือ nanobubbles มาใช้ในการเพาะเลี้ยงกุ้งขาว Penaeus vannamei ในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเพิ่มระดับออกซิเจนที่ละลายในน้ำทั่วทั้งบ่อ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตฟองอากาศนาโนที่นำมาทดสอบจะมีโครงสร้างรังผึ้งสำหรับการสร้างฟองนาโน และทำให้มีอัตราการละลายของออกซิเจนในน้ำสูงขึ้น ในการศึกษาจะมีการตรวจสอบว่าฟองอากาศนาโนจะมีปริมาณคงอยู่ในบ่อมากน้อยแค่ไหน ระดับออกซิเจนที่ละลายน้ำเท่าไหร่ มีปริมาณไวรัสและแบคทีเรียเท่าไหร่ ตรวจสอบอัตราการเจริญเติบโตของกุ้ง อัตราการแลกเนื้อ (feed conversion ratio; FCR) อัตรารอด (survival rate) ปริมาณการเก็บเกี่ยวทั้งหมด และผลผลิตในบ่อเลี้ยงที่มีลักษณะเป็น raceway เป็นอย่างไร คณะผู้วิจัยดำเนินการศึกษาในบ่อกุ้งที่เลี้ยงในร่มขนาด 50 ตารางเมตร เป็นเวลาต่อเนื่อง 81 วัน โดยกำหนดให้เลี้ยงกุ้งที่ความหนาแน่นเท่ากับ 680 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร และแบ่งการทดลองเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเลี้ยงกุ้งโดยใช้เทคโนโลยี nanobubbles (กำลัง 1 แรงม้า ที่อัตราการไหลของน้ำ 6 ลิตรต่อนาทีและอัตราการไหลของออกซิเจน 0.2 ลิตรต่อนาที) ร่วมกับการใช้กังหันตีน้ำ และอีกกลุ่มใช้แค่กังหันตีน้ำในการเติมอากาศลงไป ผลการศึกษาพบว่าในบ่อเลี้ยงที่มีเทคโนโลยี nanobubbles จะมีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำสูงกว่าบ่อที่ใช้เฉพาะกังหันตีน้ำ มีระดับออกซิเจนคงที่ที่ประมาณ 4–6 มิลลิกรัมต่อลิตร และยังคงตรวจพบ nanobubbles ละลายอยู่ในน้ำยาวนานเป็นสัปดาห์ แม้เวลาจะเลิกใช้ nanobubbles แล้ว นอกจากนี้ ยังพบว่ากุ้งขาวในกลุ่มที่เลี้ยงด้วยเทคโนโลยี nanobubbles จะสามารถรักษาระดับของออกซิเจนที่ละลายในน้ำได้อย่างเหมาะสม ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกุ้งอย่างมีนัยสำคัญ (P < 0.05) โดยกุ้งมีอัตราการเจริญเติบโตดีกว่าทั้งน้ำหนักตัวเฉลี่ยที่ 15.1 ± 1.8 กรัม และความยาวลำตัวที่ 13.1 ± 1.1เซนติเมตร ในขณะที่กลุ่มปกติมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยที่ 12.7 กรัม และความยาวลำตัวที่ 11.55 เซนติเมตร รวมทั้งยังมีอัตราการแลกเนื้อดีกว่าด้วย ในส่วนของการศึกษาปริมาณเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ในการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าระดับออกซิเจนสูงทำให้เกิดการทำลายเชื้อแบคทีเรีย เพิ่มปฏิกิริยาการย่อยสลายทางชีวภาพ และลดการเกิดตะกอน และจากการศึกษานี้พบว่าจำนวนเชื้อแบคทีเรีย Vibrio ทั้งหมดที่ตรวจพบในที่เลี้ยงด้วยเทคโนโลยี nanobubbles มีจำนวน 2,000 CFU ต่อมิลลิลิตร ในขณะที่บ่อเลี้ยงปกติตรวจพบจำนวนเชื้อแบคทีเรีย Vibrio ทั้งหมดเท่ากับ 19,000 CFU ต่อมิลลิลิตรซึ่งสูงกว่าการเลี้ยงในเทคโนโลยี nanobubbles อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังตรวจพบเชื้อ Infectious Myonecrosis Virus (IMNV) ในบ่อเลี้ยงปกติด้วย คุณภาพน้ำที่แตกต่างกันนี้มีความสัมพันธ์กับอัตราการรอดตายของกุ้งที่เลี้ยงทั้ง 2 กลุ่ม โดยพบว่าอัตราการรอดของกุ้งขาวในกลุ่มที่เลี้ยงในเทคโนโลยี nanobubbles มีค่าเท่ากับ 95% ในขณะที่บ่อปกติมีอัตราการรอดที่ 78% เท่านั้น เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตพบว่ากลุ่มที่เลี้ยงในเทคโนโลยี nanobubbles มีค่าน้ำหนักผลผลิตกุ้งเท่ากับ 436 กิโลกรัม หรือ 8.7 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่บ่อปกติมีค่าน้ำหนักผลผลิตกุ้งเท่ากับ 222 กิโลกรัม หรือ 4.4 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากการศึกษานี้จะเห็นว่าการนำเทคโนโลยี nanobubbles มาใช้ในการผลิตและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ผลดีทั้งในเรื่องของอัตราการเจริญเติบโต และยังช่วยลดปริมาณเชื้อก่อโรคทำให้ลดความสูญเสียของฟาร์มที่อาจเกิดจากโรคติดเชื้อในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ และทำให้เกิดความยั่งยืนในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไป สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเมย์) |