ความสัมพันธ์ของพยาธิตืดในปลากับแบคทีเรียตัวร้าย
ชื่อบทความ ความสัมพันธ์ของพยาธิตืดในปลากับแบคทีเรียตัวร้าย คำสำคัญ พยาธิตืด แบคทีเรีย สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ จากบทความก่อนหน้านี้หลายๆ เรื่องที่ผ่านมา หมอเชื่อว่าทุกท่านน่าจะพอทราบกันดีแล้วว่า จุลชีพหรือแบคทีเรียในทางเดินอาหารของปลานั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพโดยรวมของตัวปลา ทั้งในแง่ของการเจริญเติบโต ระบบภูมิคุ้มกัน และความทนทานต่อการเกิดโรคติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะการรับเชื้อผ่านระบบทางเดินอาหาร เมื่อเร็วๆ นี้นักวิจัยจากประเทศนอร์เวย์ได้มีการค้นพบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ ระหว่างการมีอยู่ร่วมกันของพยาธิตืดในทางเดินอาหารของปลาแซลมอนกับแบคทีเรียก่อโรคค่ะ โดยนักวิจัยได้ค้นพบว่าพยาธิตืดนั้นมีความสามารถในการสร้างสังคมจุลชีพเป็นของตัวเอง ซึ่งนักวิจัยพบว่า ตัวพยาธิตืดนั้นมักจะมีการอยู่ร่วมกัน กับแบคทีเรียชนิดเดิม ๆ ซึ่งเป็นสายพันธุ์หรือ strain จำเพาะ เช่น เมื่อมีการพบ Mycoplasma ก็จะพบเป็น Mycoplasma strain เดิม ๆ ที่พบในกรณีมีพยาธิตืดในลำไส้ปลา แต่จะไม่พบ strain ดังกล่าวในปลาอื่นที่ไม่มีพยาธิตืด จึงเป็นไปได้ว่าตัวพยาธิเองมีบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อกลางให้แบคทีเรียชนิดนั้นๆ สามารถเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันในทางเดินอาหารปลาได้ หรือในอีกแง่ คือพยาธิตืดจำเป็นต้องอาศัยแบคทีเรียชนิดต่างๆ เหล่านั้น เป็นตัวช่วยในการดำรงชีวิตให้อยู่รอดในระบบทางเดินอาหารของปลา จึงมีการดำรงอยู่ที่เอื้ออำนวยซึ่งกันและกันบางอย่าง จนเกิดเป็นสังคมจุลชีพขึ้นมา โดยทั่วไปการมีอยู่ของปรสิตในตัวปลานั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพปลาอยู่แล้ว การค้นพบความสัมพันธ์ของพยาธิตืดกับแบคทีเรียก่อโรคจึงมีความน่าสนใจในแง่ของการจัดการควบคุมจุลชีพก่อโรคเหล่านี้ โดยหากเราสามารถค้นพบปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของปรสิตที่แบคทีเรียเป็นผู้สร้าง หรือปัจจัยการก่อโรคของแบคทีเรียที่มีปรสิตเป็นตัวช่วยส่งเสริม การควบคุมกำจัดปัจจัยเหล่านั้น ย่อมส่งผลดีในการกำจัดปรสิตและแบคทีเรียดังกล่าว รวมถึงเป็นการสร้างเสริมจุลชีพทางเดินอาหารที่ดีให้แก่ตัวปลา หรือหากในอนาคตนักวิจัยสามารถค้นพบปัจจัยดังกล่าวได้จริง เราอาจมีตัวช่วยหรือเครื่องมือใหม่ในการนำมาใช้ต้านพยาธิหรือแบคทีเรีย โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านปรสิต หรือยาปฏิชีวนะในการควบคุมการเกิดโรคในตัวปลาก็เป็นได้ แม้การศึกษาที่เขียนให้อ่านนี้จะยังเป็นเพียงแค่การค้นพบเบื้องต้น อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้ชี้ให้เราเห็นได้ว่า ระบบนิเวศน์จุลชีพในทางเดินอาหารของปลาหรือ gut microbiome มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของตัวปลาอย่างมาก การสร้างเสริมให้ปลามีจุลชีพที่ดีในระบบทางเดินอาหาร ยังคงมีประโยชน์ และคุ้มค่าที่จะทำการศึกษาวิจัย เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่เราชาวฟาร์มในการนำมาประยุกต์ใช้และพัฒนาการเลี้ยงปลาให้มีประสิทธิภาพได้ต่อไปค่ะ
ที่มา: https://thefishsite.com/articles/researchers-take-the-russian-doll-approach-to-salmon-parasites สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเมย์) |