การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในสัตว์น้ำโดยองค์การสุขภาพสัตว์โลก (2/3)
ชื่อบทความ การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในสัตว์น้ำโดยองค์การสุขภาพสัตว์โลก (2/3) คำสำคัญ การใช้ยาต้านจุลชีพ สมเหตุผล สัตว์น้ำ องค์การสุขภาพสัตว์โลก เพื่อไม่ให้เสียเวลาเรามาต่อกันเลยค่ะ ว่าองค์การสุขภาพสัตว์โลกกำหนดให้คนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสัตว์ ตัวแทนจำหน่ายยาทั้งปลีก-ส่ง และผู้ประกอบการด้านสัตว์น้ำต้องมีความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง คนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสัตว์ (veterinary pharmaceutical industry) ต้องมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผลยังไงบ้าง - ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเกี่ยวกับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยาต้านจุลชีพต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาต้านจุลชีพและมีการร้องขอข้อมูลเพิ่มเติม คนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสัตว์มีหน้าที่รับผิดชอบในการให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดนอุตสาหกรรมยาสัตว์ต้องมีข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งช่วงก่อนและหลังการขาย ซึ่งรวมถึงการผลิต การขาย การนำเข้า การติดฉลาก การโฆษณา และการดูแลทางด้านเภสัช - ต้องรับผิดชอบในการให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการประเมินปริมาณของยาต้านจุลชีพที่วางขายตลาดให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ และควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีการแนะนำให้โฆษณายาต้านจุลชีพโดยตรงต่อผู้ผลิตสัตว์น้ำ ตัวแทนจำหน่ายยาทั้งปลีก (retail distributors) และส่ง (wholesale) ต้องมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผลยังไงบ้าง - ผู้แทนจำหน่ายควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ดำเนินการขายยาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง - ต้องแน่ใจว่าในผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายทั้งหมดมีข้อมูลสำหรับการใช้ยาและการกำจัดยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม และควรมีความรับผิดชอบในการเก็บรักษาและกำจัดผลิตภัณฑ์ตามคำแนะนำของผู้ผลิตยาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ผู้ผลิตสัตว์น้ำหรือเจ้าของฟาร์ม ต้องมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผลยังไงบ้าง - ผู้ผลิตสัตว์น้ำหรือเจ้าของฟาร์มควรดำเนินการตามโปรแกรมดูแลด้านสุขภาพสัตว์ในฟาร์ม เพื่อส่งเสริมสุขภาพสัตว์น้ำและความปลอดภัยด้านอาหาร (food safety) มีการวางแผนกลยุทธ์ในการจัดการเพาะเลี้ยงอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาสภาวะทางสุขภาพของสัตว์น้ำผ่านโปรแกรมความปลอดภัยทางชีวภาพ การเลี้ยง อาหาร การฉีดวัคซีน การจัดการคุณภาพน้ำที่ดี - ควรใช้ยาต้านจุลชีพตามคำแนะนำของสัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสัตว์น้ำ ที่ได้รับอนุญาตให้สั่งจ่ายยารักษาสัตว์ และปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับ วิธีการใช้ยา ขนาดยา และระยะเวลาในการหยุดใช้ยา - มีการจัดเก็บ จัดการ และกำจัดยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม - มีการเก็บบันทึกการใช้ยาต้านจุลชีพ การทดสอบความไวรับของเชื้อแบคทีเรียต่อยาต้านจุลชีพ และจัดทำบันทึกให้กับสัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสัตว์น้ำไว้เป็นข้อมูลในการวางแผนการใช้ยาต้านจุลชีพ - ผู้ผลิตสัตว์น้ำหรือเจ้าของฟาร์มควรแจ้งสัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสัตว์น้ำ ในกรณีที่พบการเกิดโรคซ้ำและพบว่ายาที่ใช้ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค เล่าเรื่องบุคคลที่เกี่ยวข้องในการผลิต การจัดจำหน่าย และการใช้ยาต้านจุลชีพเกือบครบแล้ว เหลือคนที่มีหน้าที่สำคัญอีก 1 คือ สัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสัตว์น้ำ นั่นเอง จะมีรายละเอียดยังไง รอบหน้ามาพบกันอีกค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเมย์) |