การใช้สมุนไพรเป็นยาสลบกับปลาเรนโบว์เทราต์
ชื่อบทความ การใช้สมุนไพรเป็นยาสลบกับปลาเรนโบว์เทราต์ คำสำคัญ สมุนไพร ยาสลบ ปลาเรนโบว์เทราต์ หากท่านไหนเป็นแฟนเพจรุ่นแรกๆ น่าจะพอคุ้นๆ กับบทความของหมอที่เขียนเล่าเกี่ยวกับเรื่องของการใช้ยาสลบในสัตว์น้ำ ที่เคยลงในเพจมานานหลายปีแล้ว ในวงการสัตว์น้ำเรามีการใช้ยาสลบเพื่อให้สัตว์น้ำหมดสติ ระงับความรู้สึก ทำให้ไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นภายนอก การใช้ยาสลบจะเป็นประโยชน์ในขั้นตอนการตรวจ รักษา การจัดการกับตัวปลา ทั้งนี้ ปัจจุบันมียาสลบอยู่หลายชนิด และการเลือกใช้ยาสลบนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ กฎหมาย ความนิยม และชนิดของสัตว์น้ำที่พิจารณาว่าจะให้ยาสลบ โดยเฉพาะการใช้ยาสลบในสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคจะต้องพิจารณาให้ดี การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการนำสมุนไพรมาพัฒนาใช้เป็นยาสลบมีมาอย่างต่อเนื่อง ยาสลบที่มีการสกัดสารสำคัญมาจากพืชเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาสลบ เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยจาก Isparta University of Applied Sciences (Turkey) และ Burdur Mehmet Akif Ersoy University ได้ทดสอบผลการทำสลบของน้ำมันหอมระเหยจากโหระพา (Ocimum basilicum) และยูคาลิปตัส (Eucalyptus globulus) ในปลาเรนโบว์เทราต์ (Oncorhynchus mykiss) และหาความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยที่เหมาะสม โดยทดลองให้น้ำมันหอมระเหยแก่ลูกปลาเรนโบว์เทราต์น้ำหนักประมาณตัวละ 10 กรัม ที่ความเข้มข้นแตกต่างกัน คือ 20, 50, 70, 100, 150, 200, 300, 400, 500 และ 600 มิลลิกรัมต่อลิตร จากนั้นได้บันทึกผลการทดลองเกี่ยวกับเวลาที่ใช้ในการทำสลบ และระยะเวลาที่ปลาใช้พักฟื้น นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ศึกษาผลกระทบทางจุลพยาธิวิทยาของน้ำมันหอมระเหยต่อเนื้อเยื่อของปลาหลังจากได้รับยาสลบ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยจากโหระพาและยูคาลิปตัสที่เหมาะสมในการทำสลบลูกปลาเรนโบว์เทราต์ อยู่ที่ความเข้มข้น 300 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 400 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ โดยสามารถทำสลบได้ ภายในระยะเวลาน้อยกว่า 5 นาที และระยะเวลาพักฟื้นของปลาไม่เกิน 10 นาที นักวิจัยพบว่าน้ำมันหอมระเหยที่ทดลองไม่ส่งผลกระทบต่อปลาเรนโบว์เทราต์ และชี้ให้เห็นว่าน้ำมันหอมระเหยไม่ก่อให้เกิดผลทางพยาธิวิทยาต่อเนื้อเยื่อเหงือก ตับ และไตของปลาเรนโบว์เทราต์ การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าน้ำมันหอมระเหยจากโหระพา (Ocimum basilicum) และยูคาลิปตัส (Eucalyptus globulus) สามารถใช้เป็นยาสลบที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในลูกปลาเรนโบว์เทราต์ค่ะ อย่างไรก็ตามนะคะ อย่าลืมไปตามที่กล่าวมาตอนต้นว่า การใช้ยาสลบต้องคำนึงถึงชนิดสัตว์น้ำด้วย ดังนั้นผลที่พบในลูกปลาเรนโบว์เทราต์ อาจแตกต่างกับสัตว์น้ำชนิดอื่นได้ ดังนั้น ก็ควรมีการศึกษาในอนาคตเกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลกระทบของยาสลบของน้ำมันเหล่านี้ในปลาชนิดต่าง ๆ เพิ่มเติมค่ะ หากท่านใดสอนใจอ่านข้อมูลเชิงลึก สามารถตามไปอ่านต่อได้ที่นี่ค่ะ Nalan Ozgur Yigit, Secil Metin, Omer Faruk Sabuncu, Behire Isıl Didinen, Hakan Didinen, Ozlem Ozmen, Ozgur Koskan (2022) Efficiency of Ocimum basilicum and Eucalyptus globulus essential oils on anesthesia and histopathology of rainbow trout, Oncorhynchus mykiss. Journal of the World Aquaculture Society https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/jwas.12911 สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเมย์) |