
ขมิ้นชันในอาหารปลานิล ชื่อบทความ ขมิ้นชันในอาหารปลานิล คำสำคัญ ขมิ้นชัน อาหาร ปลานิล สวัสดีท่านผู้อ่านชาวฟาร์มทุกท่าน เชื่อว่าทุกท่านน่าจะคุ้นเคยกับ “ขมิ้นชัน” สมุนไพรพื้นบ้านของเรากันดีอยู่แล้วนะคะ ทราบมั้ยคะว่านอกจากจะอยู่ในเมนูอาหารแล้ว ขมิ้นชันยังมีสรรพคุณเป็นยา มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และยังมีฤทธิ์ที่ช่วยต่อต้านแบคทีเรียได้อีกด้วยค่ะ แต่ข้อเสียสำคัญของขมิ้นชัน คือ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ร่างกายสามารถดูดซึมได้ค่อนข้างยาก มักจะไปสูญเสียที่บริเวณลำไส้เล็กเสียเป็นส่วนมาก นอกจากนี้ยังถูกกำจัดออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้โดยรวมแล้วร่างกายสามารถดูดซึมและนำเอาสารเคอร์คิวมิน (Curcumin) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์จากขมิ้นชันไปใช้ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นค่ะ ในส่วนของวงการอาหารสัตว์น้ำนั้น ได้เคยมีนักวิจัยทำการทดลองนำเอา Curcumin มาใช้เป็นสารเสริมให้กับปลานิลแล้วนะคะ โดยพบว่าเมื่อผสมสารเสริมจากขมิ้นชันในอาหารปลานิล และนำไปใช้เลี้ยงแล้วนั้น ส่งผลให้ปลามีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น มีส่วนช่วยในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้ปลามีสุขภาพที่ดีขึ้น แต่ผลการทดลองยังไม่เป็นที่แน่ชัด ด้วยปัญหาเรื่องการดูดซึมที่กล่าวไปนั่นเองค่ะ อย่างไรก็ตาม ด้วยคุณประโยชน์ที่ดีของ Curcumin ดังกล่าวนั้น นักวิจัยชาวอียิปต์โดย Alhawas และคณะจึงได้ทำการศึกษาขยายผลต่อเนื่อง ผลงานของเค้าเพิ่งจะได้รับการตีพิมพ์ไปเมื่อเดือนเมษายน ปี 2023 นี่เองค่ะ โดย Alhawas ได้นำเอาเทคโนโลยีนาโน-ไลโปโซม (Nano-Liposome) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการขนส่งสารที่มีโมเลกุลขนาดเล็กอย่างมีประสิทธิภาพมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการดูดซึมยากของ Curcumin ค่ะ โดยเจ้าตัว Nano-Liposome นี้จะมีลักษณะเป็นถุงเล็ก ๆ รูปทรงกลม มีเยื่อหุ้มสองชั้น สามารถใช้ขนส่งสารต่าง ๆ ที่เราต้องการให้เข้าไปในเซลล์ได้ โดยจะทำให้สารที่เราบรรจุเข้าไปในไลโปโซมมีความคงตัวมากขึ้น ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมและนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นนั่นเองค่ะ ส่วนมากมักมีการนำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการขนส่งยา และเวชสำอางต่าง ๆ ทำให้สารสำคัญสามารถออกฤทธิ์และเห็นผลลัพธ์ที่ต้องการได้ดียิ่งขึ้น โดย Alhawas และคณะ ได้ทำการทดลองในปลานิลโดยใส่เจ้าสาร Curcumin เข้าไปใน Nano-Liposome จากนั้นก็นำไปผสมกับอาหารเลี้ยงลูกปลานิลน้ำหนัก 10 กรัม จำนวน 5 บ่อ บ่อละ 20 ตัว เป็นเวลาทั้งสิ้น 12 สัปดาห์ โดยแต่ละบ่อก็จะให้ Curcumin ในปริมาณที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่ให้เลยหรือเท่ากับ 0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในกลุ่มควบคุม และให้ Curcumin ผสมอาหารที่ปริมาณ 5, 15 ,25 และ 35 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในอีก 4 กลุ่มการทดลอง จากนั้นจึงทำการตรวจดัชนีชี้วัดต่าง ๆ ผลการทดลองพบว่าปลานิลมีอัตราการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อได้ดีที่สุดในกลุ่มที่ได้รับ Curcumin ปริมาณ 25 และ 35 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และยังพบว่าปลาในกลุ่มที่เสริมด้วย Curcumin ปริมาณ 35 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มีพัฒนาการทางภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น นอกจากนี้นักวิจัยยังได้ทำการทดสอบต่อ โดยทดลองให้ปลาสัมผัสกับเชื้อก่อโรค Streptococcus agalactiae ในปลาทุกกลุ่ม ผลการทดลองพบว่าปลากลุ่มที่เสริมด้วย Curcumin ปริมาณ 35 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถทนทานต่อการติดเชื้อได้ดีขึ้น ปลามีการเจ็บป่วยน้อยกว่ากลุ่มอื่น และนอกจากนี้ยังพบว่าปลาในกลุ่มที่เลี้ยงด้วย Curcumin ปริมาณ 35 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมื่อนำไปแปรรูปเป็น fillet แล้ว เนื้อปลายังคงคุณภาพดีเมื่อเก็บไว้ในตู้แช่แข็งเป็นเวลานานกว่า 4 สัปดาห์ โดยสรุปจากการทดลอง ดูเหมือนว่าเจ้าสารสกัดจากขมิ้นชันหรือ Curcumin จะมีประโยชน์อย่างมากเลยนะคะ สามารถเพิ่มอัตราการเจริญเติบโต เพิ่มอัตราการแลกเนื้อ เสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านการการติดเชื้อจากแบคทีเรียชนิด S. agalactiae และยังช่วยคงคุณภาพเนื้อปลาเมื่อผ่านการแปรรูป ทำให้สารมารถยืดระยะเวลาของการเก็บรักษาได้ยาวนานขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต่อเมื่อเรานำเทคโนโลยี Nano-Liposome เข้ามาร่วมในการช่วยแก้ปัญหาเรื่องการดูดซึมยากของเจ้าตัว Curcumin ด้วยนะคะ จึงทำให้ร่างกายปลาสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้อย่างเต็มที่ หากใช้สารเสริม Curcumin เพียงอย่างเดียว อาจต้องใช้ปริมาณมากและไม่เห็นผลชัดเจนดังเช่นการทดลองดังกล่าวข้างต้นนี้ค่ะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ ท่านใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมหาอ่านได้ที่นี่เลยค่ะ https://doi.org/10.1016/j.fsi.2023.108776 สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเมย์) |