งานวิจัย ขิง กับ ยากำจัดวัชพืช ชื่อบทความ งานวิจัย ขิง กับ ยากำจัดวัชพืช คำสำคัญ ขิง ยากำจัดวัชพืช สวัสดีท่านผู้อ่านชาวฟาร์มทุกท่าน วันนี้จะมาแชร์งานวิจัยน่าสนใจมาชิ้นหนึ่งนะคะ เป็นงานวิจัยจากประเทศอียิปต์โดย Abdelmagid และคณะตีพิมพ์ในปี 2022 ที่ผ่านมา เค้าได้ทำการทดลองเลี้ยงปลานิลขนาด 26 กรัม จำแนกเป็นกลุ่มที่ได้รับไกลโฟเซต (ซึ่งเป็นยากำจัดวัชพืชชนิดหนึ่ง) ปริมาณ 0.6 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร + อาหารปกติ และกลุ่มที่ได้รับไกลโฟเซตปริมาณเท่ากัน แต่ให้อาหารที่มีการเสริมสารสกัดจากขิงปริมาณ 2.5 กรัมต่อกิโลกรัมเข้าไปด้วย โดยทำการทดลองเลี้ยงเป็นเวลาทั้งสิ้น 4 สัปดาห์ เมื่อครบการทดลองจึงทำการตรวจวัดดัชนีชี้วัดต่าง ๆ ผลการทดสอบพบว่าปลาที่ได้รับไกลโฟเซตมีค่าเอนไซม์ตับที่สูงขึ้น มีค่าดัชนีความเครียดสูงขึ้น และมีค่าดัชนีชี้วัดระดับ Oxidative stress ในเหงือกและเนื้อในปริมาณค่อนข้างสูง บ่งชี้ว่าร่างกายของปลามีภาวะที่สารอนุมูลอิสระมีปริมาณสูงมากจนเกินสมดุล ตับทำงานหนัก และร่างกายกำลังมีการอักเสบ ในขณะที่ปลาในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากขิงมีค่าเอนไซม์ตับ ค่าดัชนีความเครียด และดัชนีชี้วัดระดับ Oxidative stress ในเหงือกและเนื้อในปริมาณน้อย เทียบเท่ากับปลาในกลุ่มปกติที่ไม่ได้รับการกระตุ้นด้วยไกลโฟเซต นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่าหากให้สารเสริมขิงผสมอาหารในรูปแบบ Nanoparticles คือให้ในรูปแบบเทคโนโลยีอนุภาคขนาดเล็กในระดับไมโครหรือนาโนเมตรยิ่งได้ผลดีขึ้น ปลาสามารถดูดซึมและนำสารสกัดจากขิงไปใช้ได้มากขึ้น โดยปลามีค่าดัชนีชี้วัดที่ดี สามารถทนต่อสภาวะที่ร่างกายได้รับไกลโฟเซตได้ และยังมีค่าไตที่น้อยลง มีค่าโปรตีนในเลือดสูงขึ้นทั้งโปรตีนรวม อัลบูมิน และโกลบูลิน อีกทั้งยังมีการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับปลาที่ได้รับสารเสริมขิงแบบธรรมดา ทีมวิจัยจึงสรุปว่าจากการทดลองดังกล่าวนี้ การผสมสารเสริมขิงในอาหารโดยรูปแบบ Nanoparticles สามารถช่วยปกป้องสุขภาพปลาจากการได้รับสารพิษซึ่งปนเปื้อนในน้ำ ประเภทยากำจัดวัชพืชชนิดไกลโฟเซตได้ดีที่สุด ทำให้ปลาสามารถต่อต้านสารอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากการได้รับสารพิษ และมีส่วนช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้นอีกด้วย การปนเปื้อนของสารพิษต่าง ๆ ในน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาเป็นปัญหาที่สามารถพบเจอได้ในระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากในบางกรณีเกษตรกรจำเป็นต้องใช้แหล่งน้ำจากสิ่งแวดล้อมที่มีการเพาะปลูกร่วมด้วยในบริเวณใกล้เคียง โดยไกลโฟเซตถือเป็นยากำจัดวัชพืชที่มีการใช้ในหลายพื้นที่การเพาะปลูกพืช จึงอาจมีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพน้ำจึงมีความสำคัญอย่างมาก หากในอนาคตท่านผู้อ่านสงสัยการปนเปื้อนของยากำจัดศัตรูพืชในฟาร์ม สารเสริมขิงอาจเป็นทางเลือกในการ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น และหากผู้อ่านท่านใดที่มีประสบการณ์ หรือมีวิธีการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษชนิดต่าง ๆ อาจเป็นยากำจัดศัตรูพืช หรือยากำจัดแมลงชนิดอื่น ๆ สามารถมาร่วมแบ่งปันกันได้นะคะ หวังว่าเนื้อหาในวันนี้จะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเมย์) |